เกี่ยวกับยา

ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย

ยา เป็นวัตถุที่รับรองไว้ในตำรายาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศ, วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์, วัตถุที่เป็นเภสัชเคมีภัณฑ์หรือเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป หรือวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับให้เกิดผลแก่สุขภาพ ยา ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้มาจากการสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ มีการศึกษาวิจัยกับสัตว์และกับคน จนเชื่อถือได้ว่าใช้กับคนได้ผล จึงนำมาใช้ได้ ซึ้งจะอยู่หลายรู้แบบ ดังนี้ ยาเม็ด(Tablet) ยาแคปซูล(Capsule) ยาผง(Powder) ยาน้ำใส(solution) ยาน้ำเชื่อม(syrup) ยาอิลิกเซอร์(Elixir) ยาน้ำแขวนตะกอน(Suspension) โลชั่น(Lotion) ครีม(cream) ยาขี้ผึ้ง(ointment) เจล(Gel) และยาเหน็บ(suppository)

ยาก็สามารถเป็นอันตรายได้ เริ่มจากอาการไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียงของยา ซึ่งมีทั้งที่ไม่รุนแรง เช่น คลื่นไส้ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับหรือง่วงนอน จนกระทั่งรุนแรงถึงแก่ชีวิต เช่น การทำลายตับ หรือทำให้เกิดอาการหายใจไม่ออก เป็นต้น นอกจากนี้อันตรายจากยายังสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นได้อีก เช่น เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างยาตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เป็นต้น ซึ่งวันนี้จะมาให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการใช้ยาอย่างปลอดภัย และทำให้ได้รับประโยชน์จากยาสูงสุด ดังนี้ 

1.มีการปรึกษากับแพทย์ และเภสัชกร 

ก่อนการใช้ยาควรมีการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยให้บอกรายละเอียดเกี่ยวกับส่วนตัวของท่านให้มากที่สุด เช่น ประวัติการแพ้ยา รับประทานยาหรืออาหารเสริมอื่นๆ อยู่หรือไม่ ข้อจำกัดบางประการต่อใช้ยา (เช่น มีปัญหาการกลืนยา หรือ ต้องทำงานกับเครื่องจักรที่เป็นอันตรายไม่สามารถทานยาที่ทำให้ง่วงได้) ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และหากมีข้อสงสัยในการใช้ยาก็สามารถสอบถามให้เรียบร้อยและชัดเจนก่อนการใช้ยา

2.ศึกษาเกี่ยวกับยาที่ใช้ 

ไม่ว่าจะเป็นยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือยาที่ซื้อมาใช้ คุณจะต้องศึกษาข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับยา เช่น  ชื่อสามัญทางยา เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้ยาซ้ำซ้อน และได้รับยาเกินขนาด ลักษณะทางกายภาพของยา เช่น สี กลิ่น รูปร่าง เป็นต้น เมื่อสภาพของยาเปลี่ยนแปลงไป เช่น สีเปลี่ยนไป ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าว เพราะอาจก่อให้เกิด อันตรายได้

3.ปฏิบัติตามฉลากยาอย่างเคร่งครัด 

ทำความเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับยาจากฉลากยา ควรอ่านฉลากยาอย่างน้อย 2 ครั้ง ก่อนการใช้ยา เพื่อความมั่นใจว่ารับประทานยาถูกต้อง หากไม่เข้าใจประการ ใดควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกรหรือผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการเก็บรักษายาด้วย

4.หลีกเลี่ยงการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา 

ให้หลีกเลี่ยงอย่างเคร่งครัด ต่อการรับประทานยา อาหารหรือเครื่องดื่มที่ ทำให้เกิดปฏิกิริยากับยาที่รับประทาน ซึ่งทำให้เกิดผลเบี่ยงเบนการออกฤทธิ์และ เพิ่มอันตรายจากยาได้ หากเป็นไปได้ ทุกครั้งที่ท่านต้องมีการรับประทานยาใหม่ๆ เพิ่มเติม ควรได้นำยาเดิมที่ รับประทานอยู่ไปแสดงให้แพทย์ หรือเภสัชกร ได้ตรวจสอบให้ด้วยว่า มียาใดที่ซ้ำซ้อน หรือทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างกันได้ เพื่อที่จะได้จัดยาให้ร่วมรับประทานได้เหมาะสม

5.สังเกตตนเองหลังจากการใช้ยา

สังเกตว่าผลของยาเป็นไปตามแผนการใช้ยาหรือไม่ หากไม่เป็นเช่นนั้น ควรไปหา แพทย์ หรือเภสัชกรอีกครั้ง เพื่อประเมินและปรับการรักษา

Tags: